หลักสูตรการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ ๘ (ก.พ.ร. ๑ รุ่น ๘)

ศึกษาอบรมระหว่างวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ถึง วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ (เฉพาะวันเสาร์)

——————————————————-

๑. หลักการและเหตุผล
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันท้าทายทั้งจากภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เช่น ภัยพิบัติระดับโลกการปรับขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของโลก เทคโนโลยีพลิกโลกต่าง ๆ จนกระทั่งสหประชาชาติต้องประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ๑๗ ข้อขึ้นมาเป็นวาระยุทธศาสตร์การพัฒนาของโลกแรงกดดันต่อสังคมไทยยังมีที่มาจากสถานการณ์ภายในด้วย เช่น การพัฒนาที่ไม่สมดุลและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น ความขัดแย้ง ความสูญเสีย ซึ่งทำให้มีความจำเป็นในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงสงบสุข เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความยั่งยืนโดยภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมต้องร่วมมือกันแบบประชารัฐเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้สามารถรับมือกับความท้าทายข้างต้นได้ จึงมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๖ บัญญัติให้ รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ยุทธศาสตร์ที่ ๖ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้กำหนดให้ ภาครัฐยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไรก็ตาม การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลนั้น จะเกิดขึ้นในภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถผนึกกำลังเป็นเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงได้จัดให้มีโครงการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง หรือเรียกโดยย่อว่า ก.พ.ร. ๑ หลักสูตร “การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับนักบริหารระดับสูง ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ส่วนราชการ จังหวัด รัฐวิสาหกิจ รัฐสภา องค์การมหาชน สถาบันอุดมศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ ตลอดจนผู้บริหารของหน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลและบริหารองค์การตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรม

. ปณิธานหลักและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรฯ
ปณิธานหลัก :
เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมสามารถคิด วิเคราะห์และนำผลที่ได้รับไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาหน่วยงานของตนเองตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์:
๒.๑ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเกี่ยวกับการบริหารองค์การตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์การเชื่อมโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่าง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๒.๒ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในการเสริมสร้างวิสัยทัศน์และมุมมองในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการบริหารประเทศและองค์การ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Changes) เพื่อให้เกิดความ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” วิธีการในการปรับปรุงและนำไปสู่การ “พัฒนา” องค์การของตนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
๒.๓ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ได้ร่วมพัฒนาแนวคิด เสริมสร้างทัศนคติ อันจะเป็นการสร้างองค์ความรู้สำหรับการนำไปพัฒนาต่อยอดได้
๒.๔ เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของตนเองและสร้างเครือข่ายผู้นำในด้านการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างยั่งยืน โดยผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ

. ระยะเวลาและสถานที่ในการศึกษาอบรม
ระยะเวลาการศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๗๗ ชั่วโมง ประกอบด้วย
การเรียนรู้ในห้องเรียน ๑๐๕ ชั่วโมง
การชี้แจงและนำเสนอเอกสารวิชาการรายบุคคล ๒๔ ชั่วโมง
การศึกษาดูงานนอกสถานที ๔๘ ชั่วโมง

โดยกำหนดให้มีการศึกษาอบรม ในวันและเวลา ดังนี้
วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.
สถานที่ในการจัดอบรม : ห้องประชุม สำนักงาน ก.พ.ร. อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น ๙
(ลิฟต์โซน W1) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ
หมายเหตุ :

๑. สถานที่ในการจัดการศึกษาอบรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์แต่จะประกาศแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนมีการศึกษาอบรม
๒. การจัดการศึกษาอบรมจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

๔. ระบบการศึกษาเรียนรู้
๔.๑ การเรียนรู้ในห้องเรียน โดยอาศัยวิธีการบรรยาย การอภิปราย และกรณีศึกษา โดยเน้นการมี
ส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้ารับการศึกษาอบรม เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการ แนวคิด รูปแบบ วิธีการวิเคราะห์ และแนวทางปฏิบัติ ในประเด็นหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนด
๔.๒ การศึกษาดูงานนอกสถานที่เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและเสริมประสบการณ์ด้วยการลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในบริบทที่น่าสนใจและมีความทันสมัยเหมาะสมกับการนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งทางด้านความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เข้ารับการศึกษาอบรม และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ
๔.๓ การจัดทำเอกสารวิชาการรายบุคคล เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหา วางกระบวนการในการปรับปรุง/แก้ไขปัญหา สร้าง/ออกแบบเครื่องมือและวิธีการ เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาธรรมาภิบาลในการนำยุทธศาสตร์ที่ต้องการการบูรณาการจากหลายภาคส่วนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

๕. จำนวนผู้เข้ารับการศึกษาอบรม
ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจำนวนประมาณ ๘๐ คน ต่อรุ่น

๖. การสมัครเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ
๖.๑ คุณสมบัติผู้เข้ารับการศึกษาอบรม
ผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
๖.๑.๑ ข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการอื่น ๆ ที่เทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ขึ้นไป
(๒) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง
(๓) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ขึ้นไป
(๔) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ
(๕) ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น หรือชำนาญการพิเศษ และดำรงตำแหน่งบริหารส่วนงาน
๖.๑.๒ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการพลเรือนตาม (๑)
๖.๑.๓ กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรกำกับดูแล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
๖.๑.๔ นายทหาร หรือนายตำรวจ ที่มีชั้นยศ อัตราเงินเดือน พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอก ขึ้นไป
๖.๑.๕ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕
๖.๑.๖ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๑) นายก หรือรองนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๒) สมาชิกสภาท้องถิ่น
(๓) ข้าราชการหรือพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าระดับ ๙ ขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งระดับ ๘ อาวุโส ไม่น้อยกว่า ๓ ปี
(๔) ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชุมชน หรือผู้นำชุมชน หรือผู้นำท้องถิ่น
๖.๑.๗ ผู้บริหารองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น
๖.๑.๘ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรืออาจารย์ประจำที่ดำรงตำแหน่งระดับตั้งแต่รองศาสตราจารย์ ขึ้นไป
๖.๑.๙ ผู้ประกอบการ กรรมการบริษัท กรรมการบริหารบริษัท หรือผู้บริหารระดับสูงของกิจการภาคเอกชน
๖.๑.๑๐ บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องด้วยเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ หรือมีผลงานอันเป็นประโยชน์และเป็นที่ยอมรับของสังคม
ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และมีประสบการณ์ทำงาน ๑๐ ปี ขึ้นไป กรณีที่เป็นข้าราชการไม่ว่าประเภทใดก็ตามต้องเป็นผู้ที่มีเวลาราชการเหลือตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป ณ วันที่ศึกษาอบรมครบตามที่หลักสูตรกำหนด (๓๐ กันยายน ๒๕๖๔) รวมทั้งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ คณะกรรมการฯ กำหนด ณ วันปิดรับสมัคร เป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษาอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ ของระยะเวลาในการศึกษาอบรม และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมจัดทำผลงานตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ จะต้องไม่อยู่ในระหว่างการเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรของหน่วยงาน หรือสถาบันอื่นใดในขณะเวลาเดียวกัน เพื่อให้มีเวลาเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรได้อย่างเต็มที่
การพิจารณาผู้สมัครให้เข้าร่วมหลักสูตร จะเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดไว้ และ การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด
๖.๒ เอกสารประกอบการสมัคร

กรอกรายละเอียดในใบสมัคร โดยดาวน์โหลดทาง www.igpthai.org.และ www.opdc.go.th พร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการ หรือบัตรประชาชน และรูปถ่ายขนาด ๒ นิ้ว หน้าตรง จำนวน ๒ รูป (ถ่ายไม่เกิน ๖ เดือน) ส่งได้ที่
๖.๒.๑ e-mail : ggsd8@igpthai.org
๖.๒.๒ ไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึง
โครงการหลักสูตรการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับนักบริหารระดับสูง
สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
เลขที่ ๑๒๐ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๙ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
๖.๒.๓ ยื่นเอกสารสมัครด้วยตนเอง
โครงการหลักสูตรการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับนักบริหารระดับสูง
สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
เลขที่ ๑๒๐ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๙ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๒๑๔๑-๙๐๒๑ และ ๐-๒๑๔๑-๘๙๙๘
หรือ ๐๙-๕๔๘๕-๔๐๕๙
๖.๓ กำหนดการรับสมัคร (ขยายเวลาการรับสมัคร) และประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการอบรม
ระยะเวลารับสมัคร ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม – ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการอบรม ภายในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผ่านทาง www.igpthai.org และ www.opdc.go.th

๖.๔ กำหนดรายงานตัวและชำระค่าธรรมเนียม
ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ จะต้องมารายงานตัวและชำระค่าธรรมเนียมในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔

๗. เงื่อนไขและเกณฑ์จบหลักสูตรฯ
เกณฑ์การพิจารณาให้ผ่านหลักสูตรฯ และได้รับมอบประกาศนียบัตร มีดังนี้
๗.๑ เข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ (การเรียนรู้ในห้องเรียนและการศึกษาดูงานนอกสถานที่) ตามที่กำหนด ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕
๗.๒ ส่งเอกสารวิชาการรายบุคคลและเข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอเอกสารวิชาการรายบุคคล โดยจะต้องมีผลงานที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานและจัดส่งภายในเวลาที่กำหนด

๘. ค่าธรรมเนียมหลักสูตรฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
๘.๑ ค่าธรรมเนียมตลอดหลักสูตรจำนวนเงิน ๑๓๙,๐๐๐.- บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) รวมค่าเอกสาร ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการศึกษาดูงานนอกสถานที่ ที่หลักสูตรเป็นผู้กำหนด (การพักโรงแรม ห้องพักคู่ ๒ ท่าน/ห้อง/คืน) ทั้งนี้ ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศึกษาอบรม
๘.๒ อัตราดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย
๘.๓ ข้าราชการมีสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่ายจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ตามระเบียบของทางราชการ
๘.๔ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น สามารถเบิกจ่ายเงินเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงาน ในต่างประเทศ (หากมี) ได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
๙. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เลขที่ ๑๒๐ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๙
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๒๑๔๑-๙๐๒๑ และ ๐-๒๑๔๑-๘๙๙๘ หรือ ๐๙-๕๔๘๕-๔๐๕๙

๑๐. ที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ
นายพลากร สุวรรณรัฐ ที่ปรึกษา
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษา
เลขาธิการ ก.พ.ร. ประธานกรรมการ
นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานกรรมการ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ กรรมการ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการ
ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี กรรมการและเลขานุการ
สำนักงาน ก.พ.ร.
นางสาวปาริชาติ คมขำ ผู้ช่วยเลขานุการ

๑๑. โครงสร้างและรายละเอียดของหลักสูตรฯ
หลักสูตรฯ ประกอบด้วย ๓ ส่วนได้แก่ การเรียนรู้ในห้องเรียน การจัดทำเอกสารวิชาการรายบุคคล
และการศึกษาดูงานนอกสถานที่
ในส่วนของเนื้อหาการเรียนรู้ในห้องเรียนประกอบด้วย หมวดวิชา ๗ หมวด จำนวน ๑๐๕ ชั่วโมง ดังนี้
หมวดวิชาที่ ๑: ภาพรวมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ๓ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๒: หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ๒๘.๕ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๓: แนวโน้มและบริบทของการเปลี่ยนแปลง ในยุค Digital Economy ๑๘ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๔: นโยบายสาธารณะ ๑๘ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๕: การบริหารภายใต้โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ๑๕ ชั่วโมง
เพื่อขับเคลื่อนสู่ Digital Government
หมวดวิชาที่ ๖: ภาวะผู้นำ ๑๒ ชั่วโมง
หมวดวิชาที่ ๗: สรุปรวบยอด ๑๐.๕ ชั่วโมง

หมวดวิชาที่ ๑ : ภาพรวมของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (๓ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ครอบคลุมถึงการชี้แจงวัตถุประสงค์ ระบบการศึกษาเรียนรู้ เงื่อนไขและเกณฑ์ต่าง ๆ ของหลักสูตรฯ ภาพรวมหลักสูตรการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับนักบริหารระดับสูง ตลอดจนการอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของหมวดวิชาต่าง ๆ เพี่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมได้เข้าใจและเห็นภาพรวมของหลักสูตรฯ

หมวดวิชาที่ ๒ : หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (๒๘.๕ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ครอบคลุมถึงกรอบแนวคิดและหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) และการกำกับดูแลตนเองที่ดี/บรรษัทภิบาล (Corporate. Governance) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติและเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยครอบคลุมสาระในภาพรวมและเฉพาะในบางเรื่องที่มีความสำคัญ เช่น ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น
รวมถึงประเด็นการบริหารกิจการบ้านเมืองร่วมสมัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนาองค์การ การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการและกระบวนงาน ซึ่งประกอบด้วย ๑๐ หัวข้อวิชา ดังนี้

หัวข้อวิชาที่ ๑ แนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล
– แนวคิดและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หัวข้อวิชาที่ ๒ การส่งเสริมและพัฒนาธรรมาภิบาล
– การส่งเสริมและพัฒนาธรรมาภิบาลในภาคราชการ
– พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
– การส่งเสริมและพัฒนาธรรมาภิบาลในภาคเอกชน
– เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
– หนทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
หัวข้อวิชาที่ ๓ จรรยาบรรณข้าราชการและจริยธรรมนักบริหาร
– ขอบเขต สาระสำคัญและรายละเอียดของประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน
และข้าราชการประเภทต่าง ๆ
– รูปแบบและวิธีการบริหารจริยธรรมในองค์การ
– กรณีตัวอย่างที่เป็นเลิศของการบริหารจริยธรรมที่เป็นเลิศในองค์การภาครัฐและภาคเอกชน
หัวข้อวิชาที่ ๔ ความโปร่งใส
– การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (Sharing Information)
– การปฏิบัติราชการแบบเปิดเผย (Open Government)
– การประกาศขั้นตอนการปฏิบัติราชการเพื่อให้บริการประชาชนและกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน
– การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐด้วย Open Data
หัวข้อวิชาที่ ๕ บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
– แนวทางและวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชน
– ขอบเขต ระดับ และเทคนิควิธีการมีส่วนร่วมของประชาชน (ตาม International Association of Public Participation: IAP๒)
– ปัญหาอุปสรรคของการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกิจการบ้านเมือง
– กรณีตัวอย่างที่เป็นเลิศในการบริหารแบบมีส่วนร่วม
– การพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางของมูลนิธิปิดทองหลังพระเพื่อสืบสานแนวพระราชดำริ
หัวข้อวิชาที่ ๖ การถ่ายโอนอำนาจและภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– หลักการและหลักเกณฑ์ในการถ่ายโอนภารกิจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– แผนถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– กระบวนการดำเนินการตามแผนการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– ปัญหาและอุปสรรคในการรับโอนภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– การประเมินประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลของการถ่ายโอนภารกิจที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น
– ทิศทางในอนาคตของการถ่ายโอนภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– กรณีศึกษาการกระจายอำนาจ: ขอนแก่นโมเดล
หัวข้อวิชาที่ ๗ หลักนิติธรรมและการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง
– ความหมายและความสำคัญของหลักนิติธรรม
– ความสัมพันธ์ระหว่างหลักนิติธรรมกับความเป็นประชาธิปไตย
– ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครอง
– กระบวนการในการเยียวยาแก้ไขปัญหา
หัวข้อวิชาที่ ๘ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
– ลักษณะและองค์ประกอบของการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
– ความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมกับการทุจริตคอรัปชั่น
หัวข้อวิชาที่ ๙ ประเด็นธรรมาภิบาลร่วมสมัย ๑: มาตรการในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น (การอภิปราย)
– สาเหตุปัญหาและรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย
– ยุทธศาสตร์ มาตรการ และกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของไทย
– ปปช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน
– รัฐบาล และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปง. ก.พ. ก.พ.ร. และกรมบัญชีกลาง ฯลฯ
หัวข้อวิชาที่ ๑๐ ประเด็นธรรมาภิบาลร่วมสมัย ๒: การพัฒนาธรรมาภิบาลในประเทศไทย –ปัญหาอุปสรรคและทางออก
– อุปสรรคต่อการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในประเทศไทย
– กลยุทธ์/แนวทางการยกระดับธรรมาภิบาลในประเทศไทย
– แนวทางการส่งเสริมธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน

หมวดวิชาที่ ๓ : แนวโน้มและบริบทของการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Economy (๑๘ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ครอบคลุมถึงการวิเคราะห์แนวโน้มโลก (Global.Trends) และการเปลี่ยนแปลงระดับโลกาภิวัตน์ เช่น การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า การประกอบธุรกิจข้ามชาติ การเมืองระหว่างประเทศ ภัยพิบัติสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การบริการงานภาครัฐ รวมตลอดถึงระบบธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ๖ หัวข้อวิชา ดังนี้

หัวข้อวิชาที่ ๑ แนวโน้มโลกและการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ ๒๐๒๐
– แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น ประชากร อาหาร พลังงาน ภัยพิบัติจากภาวะ
โลกร้อน และการก่อการร้ายสากล ฯลฯ
– ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศไทย
– แนวคิดเชิงนโยบายสาธารณะที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
– เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หัวข้อวิชาที่ ๒ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และการขับเคลื่อน
– ประเทศไทยในบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองโลก
– การบริหารการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
หัวข้อวิชาที่ ๓ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศและผลกระทบต่อประเทศไทย
– โครงสร้างและความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส
เยอรมัน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย
– ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้าน
อิทธิพลกดดัน และความร่วมมือ
– ท่าทีและตำแหน่งทางการเมืองที่เหมาะสมที่ประเทศไทยควรปฏิบัติต่อประเทศมหาอำนาจ
หัวข้อวิชาที่ ๔ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่และการพัฒนา
– ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านชีวภาพ การแพทย์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีการ สื่อสารการคมนาคม-ขนส่ง ฯลฯ
– การขับเคลื่อนประเทศไทยโดยนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy and Society)
หัวข้อวิชาที่ ๕ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงร่วมสมัย –“ ความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบระหว่างประเทศต่าง ๆ : โอกาสและภัยคุกคาม”
– พัฒนาการและอนาคตของความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมถึงประชาคมอาเซียน
– ผลกระทบที่มีต่อโครงการสำคัญของประเทศเช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
– โอกาสและยุทธศาสตร์การพัฒนาในความร่วมมือของกลุ่มประเทศ CLMVT ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย
หัวข้อวิชาที่ ๖ ประเด็นนโยบายสาธารณะร่วมสมัย ทิศทางและประเด็นการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ในบริบทของการเปลี่ยนแปลง
– ทิศทางและการพัฒนาประเทศและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่รวมตลอดถึง
ปัจจัยความเสี่ยงต่อธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีของภาครัฐ และบรรษัท
ภิบาลของธุรกิจเอกชนรวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม
– มุมมองเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการทางกฎหมายในบริบทของธรรมาภิบาล เช่น
ประเด็นว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมและประเด็นอื่น ๆ เช่น
การป้องกันการผูกขาดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนรวมถึงการคุ้มครอง
สิทธิของผู้บริโภค ฯลฯ

หมวดวิชาที่ ๔ : นโยบายสาธารณะ (๑๘ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ครอบคลุมถึงกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะและการบริหารนโยบายสาธารณะ ระบบและกลไกในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในส่วนของฝ่ายบริหารและจากภายนอก ตลอดจนการจัดความสัมพันธ์และประสานร่วมมือกันในแนวแนวดิ่ง (Vertical Governance) และแนวนอน (Horizontal Governance) ของบรรดาตัวแสดงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Policy Actors) และการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในเรื่องที่มีความสำคัญในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย ๖ หัวข้อวิชา ดังนี้

หัวข้อวิชาที่ ๑ กระบวนการตัดสินใจและการบริหารนโยบายสาธารณะของไทย
– เครื่องมือเชิงนโยบายสาธารณะในการบริหารราชการแผ่นดิน
– กระบวนการนโยบายสาธารณะของไทย
หัวข้อวิชาที่ ๒ การตรวจสอบและถ่วงดุลในการบริหารราชการแผ่นดิน : แนวทาง
การดำเนินงานและข้อจำกัด
– ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance)
– รัฐสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ Watchdogs และภาคประชาชน ฯลฯ
– ปัญหาความเพียงพอ (มาก-น้อย) และประสิทธิผลของการตรวจสอบและถ่วงดุล
หัวข้อวิชาที่ ๓ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชนและประชาชน (การทำงานในแบบประชารัฐ) (การอภิปราย)
– การบูรณาการในการทำงานร่วมกันระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค-
ส่วนท้องถิ่น (Multi-level Governance / Intergovernmental Relations and Management)
– การแสวงหาความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน
ภาคประชาสังคม ชุมชนและประชาชน (Partnerships / Intersectoral Relations and Management)
– ปัญหาอุปสรรคและโอกาสความเป็นไปได้ของการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบ
ร่วมมือกันทุกภาคส่วนในประเทศไทย
หัวข้อวิชาที่ ๔ ประเด็นนโยบายสาธารณะร่วมสมัย (๑)
การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ (Bioeconomy)
– การปฏิรูปกฎหมาย : การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย
(Regulatory Impact Assessment)
หัวข้อวิชาที่ ๕ ประเด็นนโยบายสาธารณะร่วมสมัย (๒)
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับใหม่) พ.ศ. ๒๕๖๐ และผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน”
หัวข้อวิชาที่ ๖ ประเด็นนโยบายสาธารณะร่วมสมัย (๓)
– การพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ Thailand 4.0

หมวดวิชาที่ ๕ : การบริหารภายใต้โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนสู่ Digital Government (๑๕ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ครอบคลุมถึง แนวคิด หลักการและเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน ตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์ทิศทางขององค์การ การบริหารการเปลี่ยนแปลง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน การกำกับควบคุมการดำเนินงานขององค์การ และประเด็นร่วมสมัยในการบริหารจัดการภาครัฐ โดยประกอบด้วย ๕ หัวข้อวิชา ดังนี้

หัวข้อวิชาที่ ๑ การวางยุทธศาสตร์องค์การ
– ความท้าทายของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ต้องมองกว้าง มองไกล คิดและทำอย่างมีกลยุทธ์
– การวางยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อการ
เสริมสร้างธรรมาภิบาล และเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์การ
หัวข้อวิชาที่ ๒ การวิเคราะห์และประเมินโครงการ
– การบริหารโครงการในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาอย่างมีแบบแผน
– การวิเคราะห์โครงการในด้านต่าง ๆ (เศรษฐกิจ สังคม เทคนิค สิ่งแวดล้อม)
– กรณีตัวอย่างโครงการพัฒนาประเทศ เช่น สนามบินชางงีของสิงคโปร์ และ Pearl River Delta ของจีน
หัวข้อวิชาที่ ๓ การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
– แนวคิดและหลักการจัดระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
– การใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากรายงานการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
– กรณีตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากรายงานการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
หัวข้อวิชาที่ ๔ การบริหารการเปลี่ยนแปลง
– ความสำคัญจำเป็นของการเสริมสร้างขีดสมรรถนะในการบริหารการ
เปลี่ยนแปลงของผู้บริหารองค์การในยุคปัจจุบัน
– หลักการ ขั้นตอนและรูปแบบต่าง ๆ ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง
– การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและการจัดการกับแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
– การทำให้การเปลี่ยนแปลงยั่งยืน
หัวข้อวิชาที่ ๕ รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)
– การเตรียมความพร้อมสู่รัฐบาลดิจิทัลเพื่อเป็นพื้นฐานความยั่งยืนให้แก่ประเทศ
บนหลักธรรมาภิบาลที่ดี
– การทำ Digital Transformation ในภาครัฐ
– การพัฒนาสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืน

หมวดวิชาที่ ๖ : ภาวะผู้นำ (๑๒ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ครอบคลุมถึงแนวคิด คุณลักษณะ และบทบาทของผู้นำเชิงธรรมาภิบาลในศตวรรษที่ ๒๑ ความเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีพันธะความรับผิดชอบและยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ การบริหารในภาวะวิกฤติ และความแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบวิสัยทัศน์ของผู้นำระดับนานาชาติ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและการประพฤติปฏิบัติของผู้นำเชิงธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วย ๔ หัวข้อวิชา

หัวข้อวิชาที่ ๑ ภาวะผู้นำและแนวทางการบริหารจัดการของผู้นำแบบธรรมาภิบาล
– แนวคิด ความหมาย รูปแบบของผู้นำรูปแบบต่าง ๆ
– แนวทางการบริหารจัดการของผู้นำแบบธรรมาภิบาล
– ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาภาวะผู้นำแบบธรรมาภิบาล
หัวข้อวิชาที่ ๒ บทบาทของผู้นำยุคใหม่ (Leader of the Future)
– แนวคิด คุณลักษณะสำคัญ และวิสัยทัศน์ของผู้นำยุคใหม่
– บทบาทเชิงธรรมาภิบาลและภาระรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้นำยุคใหม่
ทั้งภายในองค์การและต่อสาธารณะชน
หัวข้อวิชาที่ ๓ ผู้นำกับหลักนิติธรรมและภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ในการบริหาร
ในภาวะวิกฤติและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม
กฎหมายกับผู้นำที่มีธรรมาภิบาล
– กรอบแนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์และการบริหารภาวะวิกฤติ
– หลักการบริหารจัดการภาวะวิกฤติและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่มี
พื้นฐานอยู่บนหลักธรรมาภิบาล
หัวข้อวิชาที่ ๔ ประสบการณ์เกี่ยวกับลักษณะการเป็นผู้นำแบบธรรมาภิบาล
– ถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้นำ และนำเสนอแบบอย่างของผู้นำตัวแบบ
– แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างนักศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติและการประพฤติปฏิบัติ
ของผู้นำเชิงธรรมาภิบาล

หมวดวิชาที่ ๗ : สรุปรวบยอด ( ๑๐.๕ ชั่วโมง)

เนื้อหาในหมวดวิชานี้ประกอบด้วย
– วิชา “ประเด็นร่วมสมัยตามความสนใจของผู้เข้ารับการศึกษาอบรม” จำนวน ๓ ชั่วโมง
เป็นการอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เข้ารับการศึกษาอบรม
– สรุปและถอดบทเรียนในประเด็นสำคัญ ๆ ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในหลักสูตรฯ และการสรุปการศึกษาดูงานต่างประเทศ ด้านธรรมาภิบาล โดยเน้นถึงประโยชน์และการนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติให้บังเกิดผลตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรฯ ตลอดจนระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรต่อไป จำนวน ๗.๕ ชั่วโมง

๑๒ . ผู้รับผิดชอบโครงการ

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.